กรุงเทพฯ – ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คดีก่อการร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ บุกสนามบินดอนเมือง แต่สั่งปรับจำเลย 13 จาก 32 คน คนละ 20,000 บาท ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ว้นที่ 17 มกราคม 2567 ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกยึดสนามบินดอนเมือง คดีหมายเลขดำ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวก รวม 32 คน ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิด ฐานเป็นกบฎและก่อการร้าย
จากกรณี ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 จำเลยได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันชุมนุมใหญ่ กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ทำลายทรัพย์สินเสียหาย นำจานรับสัญญาณของพวกจำเลย ไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ปิดกั้นสะพานกลับรถของกรมทางหลวง ตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปิดกั้นการบริการสื่อสารของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน และยังชุมนุมปิดล้อม ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ด้วย เพื่อกดดันให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ลาออก
ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 1 ชั่วโมง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-5, 7-13 และ 31 ประกอบด้วย
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายศิริชัย ไม้งาม, นายสำราญ รอดเพชร, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า, นายสาวิทย์ แก้วหวาน, นายสันธนะ ประยูรรัตน์, นายชนะ ผาสุกสกุล, นายรัชต์ชยุตม์ หรือ อมรเทพ หรือ อมร ศิริโยธินภักดี หรือ อมร รัตนานนท์ และ บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด
กระทำความผิดฐานบุกรุกและฝ่าฝืน พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 การกระทำของจำเลย เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือ ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษาให้ลงโทษปรับ คนละ 20,000 บาท
ส่วนข้อหาอื่น พยาน และหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิด จึงพิพากษายกฟ้อง ส่วนจำเลยที่เหลือศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด
แกนนำพันธมิตรฯ น้อมรับคำพิพากษาศาล ยืนยัน ชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธ
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายประพันธุ์ คูณมี หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เปิดเผยว่า น้อมรับในคำพิพากษาของศาล และยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนั้น เป็นการชุมนุมโดยสันติ สงบ ปราศจากอาวุธ คดีนี้ อัยการยื่นฟ้องหลายข้อหา เช่น ข้อหาบุกรุก ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อการร้าย ชุมนุมโดยก่อการวุ่นวาย ทำร้ายเจ้าพนักงาน ต่อสู้ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน กักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นต้น
ศาลมองว่าการชุมนุมโดยรวมทั้งหมด เป็นไปด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิดในฐานก่อการร้าย รวมถึงข้อหาอื่น ๆ ยกเว้นฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาข้อบุกรุก
นายประพันธุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อหาก่อการร้ายที่ยกฟ้องนั้น เนื่องจากไม่มีการใช้อาวุธทำลายระบบคมนาคมขนส่งหรืออากาศยาน จึงถือว่าไม่เข้าข่ายความผิด ในส่วนข้อหาบุกรุก เนื่องจากสถานที่ดังกล่าว ใช้เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ของรัฐบาลขณะนั้น ซึ่งช่วงที่พันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนเข้าไป ได้เข้าไปในห้องประชุมจริง ศาลจึงมองว่า เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จึงเข้าข่ายความผิดฐานบุกรุก
ด้านนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในจำเลยที่ถูกศาลสั่งปรับ 20,000 บาท ระบุว่า การกระทำทั้งหมด ถือเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และเป็นที่ปรากฏชัดว่ารัฐบาลที่เราต่อต้านศาลได้พิพากษาแล้วว่า “เขามีความผิดจริง” ข้อกฎหมายออกมาอย่างไร เราก็รับได้ทั้งหมด แต่ที่ร่วมกันต่อสู้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญตอนนั้น ให้อำนาจประชาชาชนในการต่อต้านโดยสันติวิธี เพื่อต่อค้านนรัฐบาลที่มาโดยมิชอบ และศาลก็พิจารณาแล้วว่า เป็นการชุมนุมโดยสันติและปราศจากอาวุธ
“แม้แต่นักโทษชั้น 14 ก็สารภาพแล้วว่าผิดจริง แล้วจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ฉะนั้น ในส่วนที่เราถูกดำเนินคดี เรายินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยความเต็มใจ และการที่ศาลจะพิจารณาอย่างไร ก็เคารพอำนาจของศาล ทุกคนพร้อมปฏิบัติโดยไม่มีเงื่อนไข” นายสมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการอ่านคำพิพากษาของศาล วันนี้ ได้มีการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ จำเลย 2 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายเทิดทูน หรือเกิดภูมิไท ใจดี ที่ป่วยรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ส่วนจำเลย อีก 30 คน เดินทางไปยังศาลทั้งหมด
โดยมีกลุ่มสหภาพแรงงานและวิสาหกิจ ยืนต่อแถวมอบดอกไม้ให้กำลังใจ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: