เชียงราย-อาจารย์ อภิชิต ศิริชัย นำข้อมูลเทือกเขาดอยนางนอน ซึ่งมีการเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ และอาณาจักรล้านนา
วันที่ 6 ส.ค.2565 อาจารย์ อภิชิต ศิริชัย เผยข้อมูล บริเวณเทือกเขาที่เรียกว่า “ดอยนางนอน” เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างชายแดนพม่ากับไทย ประกอบด้วย 3 ดอยหลัก คือ ดอยจ้อง ดอยผู้เฒ่า (ดอยย่าเถ้า ดอยปู่เจ้า) และดอยตุง ซึ่งสูงที่สุด พื้นที่ตรงนี้มีลักษณะพิเศษ ด้านหน้ามีที่ราบลุ่มและมีลำน้ำหล่อเลี้ยงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ จึงมีคนเข้ามาอยู่บริเวณนี้มาแต่โบราณกาล จากตำนานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ตำนานโยนกนาคพันธุ์ ตำนานพระธาตุดอยตุง ตำนานถ้ำเปลวปล่องฟ้า ตำนานถ้ำปุ่มถ้ำปลา ตำนานเมืองเงินยาง ฯลฯ เรียกพื้นที่นี้ว่า “แอ่งเชียงแสน” อันเป็นดินแดนการกำเนิดขึ้นของ “ราชวงศ์มังราย” ที่ต่อมาสถาปนาเป็น “อาณาจักรล้านนา”
การปักปันเขตแดนระหว่างประเทศในยุคสมัยหลัง จากกรณีที่มหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศสต้องการปักปันดินแดนกับสยาม หลังจากปี พ.ศ.2429 อังกฤษประกาศผนวกดินแดนพม่าเข้าเป็นอาณานิคมของตน ต่อจากนั้นจึงเข้าเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าไทใหญ่ให้เข้ามาอยู่ในอารักขาทีละเมือง ถึง พ.ศ.2433 เชียงตุงเป็นรัฐสุดท้ายที่เข้าเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ ทำให้เขตแดนเชียงรายที่ติดต่อกับดินแดนมหาอำนาจ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของเมืองเชียงราย โดยเฉพาะพรมแดนด้านเหนือที่ยังไม่ชัดเจนว่าเชียงรายควรจะมีสิทธิ์ครอบครองลุ่มแม่น้ำรวกและลุ่มแม่น้ำสายหรือไม่ เมื่อเชียงตุงเข้าไปอยู่ในรัฐอารักขาของอังกฤษ มหาอำนาจย่อมจะสนับสนุนให้เชียงตุงได้สิทธิ์เหนือบริเวณพิพาทโดยง่าย
คณะข้าหลวงปักปันได้นัดหมายไปประชุมกันที่เมืองหางเมื่อเดือนกันยายน 2435 (ค.ศ.1892) และได้แยกกันเป็น 2 คณะ โดยคณะหนึ่งมีหลวงสรสิทธิ์ยานุการกับนายฮิลเดอแบรนด์เป็นข้าหลวง ได้สำรวจและปักปันเขตแดนจากเมืองหางไปทางตะวันออก (คือไปทางเมืองเชียงแสนและเมืองเชียงราย) ส่วนอีกคณะหนึ่งมีหลวงกำจัดไพรินทร์กับนายเลบเวอร์ซอนเป็นข้าหลวง ได้สำรวจและปักปันเขตแดนไปทางตะวันตก (คือไปทางเมืองแจะ)
เมื่อคณะข้าหลวงดำเนินการแล้วเสร็จโดยมีการปักหลักเขตแดนไว้ 21 หลัก ได้มีการจัดทำแผนที่ขึ้นไว้ 1 ชุด และทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันลงนามปฏิญญาฉบับวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) ยอมรับว่าเขตแดนระหว่างกันเป็นไปตามที่ปรากฏในแผนที่ชุดดังกล่าว
ผลจากการปักปันดินแดนนี้ ดูเหมือนเทือกเขาสำคัญของจุดกำเนิดอารยธรรมโบราณแห่งนี้ยังอยู่ในฝั่งที่ปัจจุบันเรียกว่า “เหนือสุดในสยาม” ทำให้เรายังสามา รถได้ศึกษาและเห็นถึงร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์มากมาย
ผมได้จัดทำแผนที่ตำแหน่งดอยสำคัญและถ้ำต่างๆ เหล่านี้ไว้เพื่อเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอำเภอแม่สาย อำเภอใหม่ที่แยกมาจากอำเภอเชียงแสน (แม่จัน) เมื่อปี พ.ศ.2481 ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าจากทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่นี้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรายละเอียดของสถานที่แต่ละแห่ง ทางอาจารย์ อภิชิต ศิริชัย จะได้รวบรวมมาอธิบายเพิ่ม พร้อมจัดทริปลงพื้นที่กันจริงตามหาความจริง เร็วๆ นี้
ข้อมูลโดย : อาจารย์ อภิชิต ศิริชัย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: