โตเกียว – นายกรัฐมนตรี ฟุ้ง ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเป็นไปอย่างดีมาก ถึงขั้น “มองตาก็รู้ใจ” ย้ำ ดูแลนักลงทุนในประเทศไทย
วันที่ 16 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ สื่อมวลชน ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเดินทางร่วมการประชุม ASEAN-Japan ว่า
วันนี้ ถือเป็นวันที่สองที่ได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจ ในช่วงเช้าได้พบหารือกับ นายโนริฮิโกะ อิชิกุโระ (Mr. Norihiko Ishiguro) ประธาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ฝ่ายไทยได้ยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลญี่ปุ่นและยืนยันจะดูแลนักลงทุนในประเทศไทย ซึ่งความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเป็นไปอย่างดีมากมาตลอด เป็นความสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่า “มองตาก็รู้ใจ”
ส่วนฝ่าย JETRO เข้าใจดีถึงกระแสโลกและความจำเป็นในการเปลี่ยนยานยนต์สันดาป ( ICE ) เป็น ยานยนต์อีวี ซึ่งในการพบหารือกับ บริษัทยานยนต์ขนาดใหญ่ 7 บริษัทเมื่อวานนี้ ได้ขอให้บริษัทเร่งการลงทุนให้เร็วขึ้น
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิด เพื่อเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่ง JETRO พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการชักจูงการลงทุนเพิ่มเติมมายังประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้ง สำนักงานภูมิภาค หรือregional headquarters ในไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในโอกาสนี้ได้แนะนำ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ซึ่งจะดูแลเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เร่งการเจรจาโดยเร็ว เพื่อรักษาระดับการผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวา
สำหรับการหารือกับบริษัท Kubota (คูโบต้า) ดีมาก ทำให้ได้รับทราบถึงเทคโนโลยีที่มีอย่างหลากหลายของคูโบต้า ทั้งการอัดแน่นซังข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงการเก็บเกี่ยวพืช ขณะนี้ประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลืองจำนวนมาก และยังผลิตได้น้อยหากมีการพัฒนาจะทำให้ประเทศไทยผลิตถั่วเหลืองได้มากขึ้น เรียกว่าเป็นการพูดคุยอย่างครอบคลุมทุกเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม Smart farming การใช้โดรนเพื่อการเกษตรกรรม และการพูดคุยครั้งนี้รวมถึงระบบเงินกู้ไฟแนนซ์ซิ่ง leasing เป็นการพูดคุยในหลากหลายมิติ และทีมงานจะนำประเด็นเหล่านี้มาประชุมต่อ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรอบการประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น ในวาระพิเศษ ครบสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี ว่า อาเซียนและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันระดับแน่นแฟ้น ญี่ปุ่นลงทุนสูงมากในอาเซียน อีกทั้งในเรื่องความท้าทายที่เกิดในภูมิภาคและทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นประเทศไทยพร้อมที่จะเจรจาพูดคุยเพื่อความสงบและสันติสุขในภูมิภาค
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกโครงการ Landbridge (แลนด์บริดจ์) ขึ้นมาในงานสัมมนาของบีโอไอ และกระทรวงคมนาคม โดยมั่นใจว่ามีผู้สนใจ และเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่สำคัญของภูมิภาค ถือเป็นโครงการที่จะลดความแออัดล่าช้าในช่องแคบมะละกาในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: