X

‘นายกฯ’ ออกเดินทางกลับไทยแล้ว ย้ำ ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น “ใจถึงใจ”

โตเกียว – นายกเศรษฐา ให้คะแนนเอง 8-9 จากเต็ม 10 ความสำเร็จ หารือภาคเอกชน ระหว่างประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่น ร่วมลงทุนโครงการ Landbridge ย้ำ ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น “ใจถึงใจ : heart to heart” เชื่อมั่นความร่วมมือในอนาคต

วันนี้ 18 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยสื่อมวลชน ถึงการเดินทางเข้าร่วมการประชุม ASEAN-Japan (อาเซียน-ญี่ปุ่น) วันที่ 4 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ว่า พอใจมากกับผลของการเดินทางครั้งนี้ โดยย้ำว่า ไทย-ญี่ปุ่น หุ้นส่วนใจถึงใจ heart to heart ทุกคนพูดคุยกันด้วยรอยยิ้มและความเข้าใจ ล้วนมีปรารถนาที่ดีต่อกัน พร้อมให้คะแนนความสำเร็จจากการพูดคุยกับภาคเอกชน 8-9 จากเต็ม 10

นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงผลสำเร็จของการเดินทางครั้งนี้ ว่า ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากกว่า 60 ปี ด้วยจำนวนเงินรวมหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ครั้งนี้ได้พบกับนักธุรกิจรายใหญ่ของญี่ปุ่นหลายราย ซึ่งผู้นำบริษัทเหล่านี้ล้วนเคยประจำที่ประเทศไทย หรือมาเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร ก็จะมีความลำเอียงตามธรรมชาติ เพราะมีความชื่นชอบในประเทศไทย

ในส่วนการลงทุน สิ่งที่บริษัทต้องการ และรัฐบาลสามารถให้ได้ ในสิ่งที่เป็นพื้นฐาน ก็จะทำให้เกิดความสบายใจที่จะร่วมธุรกิจกัน อาทิ supply chain ความมั่นคงทางการเมือง พลังงานสีเขียว วัตถุดิบ ความตกลงทางการค้า และอีกส่วน คือ ชีวิตความเป็นอยู่หรือการดำรงชีวิตในประเทศไทย เมื่อคนญี่ปุ่นมาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีค่าครองชีพเหมาะสม มีโรงเรียนที่ดี ระบบสาธารณสุขที่ดี มีชีวิตที่ดี ทำให้ชื่นชอบการมาดำรงชีวิตในประเทศไทย

ช่วงเวลาที่ผ่านมา การลงทุนไทย-ญี่ปุ่นไม่เคยมีปัญหา ในการพบปะกันกับนายนายกรัฐมนตรีญึ่ปุ่น ระหว่างการประชุมเอเปค เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ได้ขอให้ไทยช่วยลดข้อจำกัดเรื่องวีซ่า ให้นักธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยก็จัดการให้อย่างดี

ในส่วนของ Landbridge โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยเชิญชวนให้นักลงทุนมาร่วมทุนกับไทยในการทำโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งในส่วนของการทำโครงการขนาดใหญ่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ เกิดเป็นตัวเงินหมุนเวียน การจ้างงานต่อประเทศ เห็นได้ชัดเจนว่านักลงทุนญี่ปุ่นสนใจ ให้ความสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะพูดคุยกับคนในพื้นที่ และเป็นโครงการที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมด้วย

โดยภาพรวมการเดินทางครั้งนี้ และการพูดคุยกับนักธุรกิจ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นให้คะแนน 8-9 เต็ม 10 เรียกว่าพูดคุยกับทุกบริษัทด้วยความสบายใจ อะไรทำได้ เราพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้บริษัท ส่วนอะไรที่ไม่ได้ก็พร้อมจะให้ทางเลือก ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอที่ร่วมทำงานกันมาอย่างดี

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า มาครั้งนี้ ได้พูดคุยเพื่อเสนอให้ญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนในไทย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นเรื่องของ Soft Power packaging นำสินค้ามาเพิ่มราคาได้เป็นอย่างดี

เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่น ร่วมลงทุนโครงการ Landbridge โอกาสทองของนักลงทุนทั่วโลก
เมื่อช่วงเช้า ณ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการ Landbridge และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทร่วมรับฟัง

นายกรัฐมนตรีนำเสนอข้อมูลของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากนักลุงทุนญี่ปุ่น เนื่องจากการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

ไทยเห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทาง ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย จึงเชื่อว่าโครงการ Landbridge จะเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า

นายเศรษฐา ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลา การขนส่งตู้สินค้าผ่าน Landbridge กับผ่านช่องแคบมะละกา พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้ Landbridge ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง หรือ Feeder ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก กับ มหาสมุทรอินเดีย จากปัจจุบัน ขนโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค

ในอนาคต เมื่อมีโครงการ Landbridge ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ Landbridge ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย ร้อยละ 4 และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

สำหรับสินค้าจากประเทศในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง จะมาถ่ายลำที่ Landbridge ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย ร้อยละ 4 และประหยัดเวลาได้ 3 วัน

ส่วนสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้า ผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่ Landbridge ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โครงการ Landbridge จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง ร้อยละ 35 และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วัน

โดยเฉลี่ย การขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่าน Landbridge จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ ร้อยละ 15

สำหรับการขนส่งน้ำมันดิบ จากภูมิภาคตะวันออกกลาง หากใช้ Landbridge จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย ร้อยละ 6

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การลงทุนโครงการนี้ นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะ ธุรกิจภาคบริการ ขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร

นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่าผลิตภํณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของ ไทยจะเติบโตถึง ร้อยละ 5.5 ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

นายกรัฐมตรี ยังได้พบกับ สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อีกครั้ง และได้พูดคุยว่า จังหวัดสระแก้วมีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากกัมพูชา จะสามารถยกระดับขึ้นได้อีก ทำให้เกิดความตกลงว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางมากรุงเทพมหานคร และจะประชุมเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้าชายแดน ร่วมมือเป็นศูนย์ขนส่งสินค้า โดยฝ่ายกัมพูชาจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือให้เกิดการค้าการขนส่งร่วมกัน

นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี แห่งญี่ปุ่น ณ พระราชวังอิมพีเรียล

ก่อนนำคณะ ออกเดินทางจาก ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮาเนดะ) กลับประเทศไทย 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"