ตรัง อบอุ่นงานวันรวมญาติมานิ 200 คน จาก 4 จว.แนวเทือกเขาบรรทัด เผยตัวเลขปัจจุบันรวม 415 คน สาธิตกิจกรรมดำรงชีวิตในป่าของจริง สุดภูมิใจในภูมิปัญญาชาติพันธุ์-รับเบี้ยผู้สูงอายุเหมือนคนไทย นักวิชาการปลุกสิทธิจัดการทรัพยากร
ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่หน่วยพิทักษ์ป่าโตนเต๊ะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์มานิ จัดกิจกรรม “รวมญาติมานิ” โครงการสานสัมพันธ์ สืบสานวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ด้วยการริเริ่มการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม โดยกิจกรรมวันนี้มีชาวมานิ มาร่วมจำนวน 200 คน 11 ทับ/ชุมชน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา โดยมีกิจกรรมวิถีชีวิตชาวมานิ มีการแข่งขันการเป่าลูกดอก การสาธิตจุดไฟเพื่อก่อไฟวิถีชาวมานิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวมานิใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน และบางทับได้มีการนำใบเตยมาสานเป็นกระเป๋าเพื่อจำหน่าย ในขณะที่เด็กๆชาวมานิ ก็ได้นำกิ่งไม้มาร่วมก่อไฟเพื่อหุงหาอาหาร ซึ่งสะท้อนความเรียบง่ายและความผูกพันกับธรรมชาติ โดยปัจจุบันประชากรชาวมานิ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 415 คน
นายไข่ ศรีมะนัง หัวหน้ามานิกลุ่มวังสายทอง จังหวัดสตูล ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองมาจากจังหวัดสตูล มาหลายคนวันนี้มารวมงานญาติพี่น้องกัน ในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด ในทับของตนเองมี 30-50 คน ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เหมือนแบบว่ามาพบญาติกัน 1 ปี 1 หน แล้วเราก็สนุกสนานกัน ได้มาพบญาติแล้วรู้สึกมีความสุข ได้ให้สนุกกัน ในส่วนที่อยู่อาศัยของตนเองก็อยู่เหมือนบ้านหรือโฮมสเตย์ อยู่ใกล้กับจุดล่องแก่งวังสายทอง ในส่วนของอาหารนั้นเมื่อก่อนเราก็มีออกไปหาของป่าบ้าง แต่เดี๋ยวนี้น้อยกว่าแล้ว บางทีก็มีคนบริจาคข้าวสารอาหาร เนื้อไก่ เราก็พอได้พอเพียง ตอนนี้ตนเองอายุ 63 ปีแล้วได้เงินคนชราแล้วด้วย
นายศักดิ์ดา แสนมี่ ประธานกรรมการมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากที่ได้มีโอกาสมาทำโครงการเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้พี่น้องมานิ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการวิถีชีวิตตนเอง จัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ หรือเป็นโครงการที่เราใช้คำว่า ICI คือการให้มีการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมและครอบคลุมประเด็นต่างๆไม่ใช่เป็นการอนุรักษ์ตัวป่าไม้อย่างเดียว เพราะวิถีชีวิตของเขาอยู่กับป่าและเป็นส่วนหนึ่งของป่า ก็คิดว่ากิจกรรมแบบนี้อาจจะเป็นการมารวมเพื่อให้เขาได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา
นายศักดิ์ดา บอกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เข้ามาหนุนเสริมแก่พี่น้องชาวมานิ และมีภาคีที่เข้ามาสนับสนุนทำร่วมกัน โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นหน่วยหลัก เจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน ก็จะเป็นหน่วยที่เป็นจิ๊กซอว์คอยต่อและเป็นพี่เลี้ยงให้กับพี่น้องชาวมานิ เพื่อให้เชื่อมโยงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และดำรงวิถีชีวิตอยู่ในป่าได้อย่างยั่งยืนยาวนาน และกิจกรรมนี้เราเชื่อว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับพี่น้องชาวมานิ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอกันได้พบปะพูดคุยกัน ก็ทำให้เขาได้มีโอกาสพบปะพูดคุยสื่อสารถามสารทุกข์สุขดิบกัน รวมทั้งอาจจะมาช่วยกันดูว่าในการจัดการทรัพยากรพื้นที่ตัวเองเกิดขึ้นอย่างไรบ้างแล้ว และมีแผนแนวคิดที่จะทำงานจัดการทรัพยากรส่งเสริมดำรงวิถีชีวิตตัวเองให้อยู่ยาวนานในอนาคตได้อย่างไร ซึ่งเป็นฐานที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
นายศักดิ์ดา บอกว่า สำหรับกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมเพื่อที่อยากจะเข้ามาเรียนรู้ วิถีหรือตัวตัวตนของพี่น้องชาวมานิ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม และอยู่ในพื้นที่นี้ยาวนาน และยังมีวิถีที่ปรับเปลี่ยนไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม แล้วตอนนี้หลายที่ก็มีการปรับตัวมามีพื้นที่อยู่บ้านแบบกึ่งถาวร หรือแบบถาวร และมีการประกอบอาชีพที่มากไปกว่าการหาของป่า ซึ่งมีการปรับตัวขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่ ซึ่งหลายที่ก็เริ่มดำเนินการได้ดี สิ่งสำคัญที่เขาดำรงอยู่สามารถนำภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้นำมาปรับใช้ในการจัดการทรัพยากรและกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง อาจจะนำมาปรับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ อย่างเช่น พี่น้องมานิมีองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรดีมาก เรื่องของการถักเถาวัลย์ ก็ถือว่าเป็นทักษะที่เขามีอยู่แล้ว
นายศักดิ์ดา บอกอีกว่า สำหรับกิจกรรมในวันนี้นอกจากสำหรับการมาพบปะกันแล้วนั้นก็ยังมีการพูดคุยกันด้วย ว่าจะทำอะไรร่วมกันหรืออะไรที่เราควรจะต้องรับรู้ปรับตัวไปพร้อมกับการขับเคลื่อนกิจกรรม ทั้งในระดับทับของเขา ซึ่งโครงการนี้ทำให้เขาได้เข้าใจ และร่วมในการจัดการทางทรัพยากรและดำรงวิถีตัวเองได้ชัดเจน การทำกิจกรรมการแสดงหรือการสาธิต ทำให้เขาได้รู้จักแสดงศักยภาพตัวเองที่มีอยู่แล้ว มาให้ทั้งคนที่มาร่วมได้ดูด้วย และยังมีการแสดงทักษะวิถีชีวิตที่ดำรงชีวิตอยู่ในป่าทั้งมีการเป่าลูกดอกที่เป็นเป้านิ่ง แต่จริงๆแล้วถ้าเป็นเป้าเคลื่อนไหวพี่น้องมานิจะถนัดมากกว่า และโชว์การจุดไฟเพื่อก่อกองไฟแบบวิถีมานิ สำหรับพี่น้องมานิมาทั้งหมด 11 ทับ ก็คือชุมชน มาจาก 4 จังหวัด
ทั้งนี้ โครงการเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และยังสอดรับกับการดำเนินงานโครงการริเริ่มอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม ICI ของมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (ม.ก.ส.) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวมานิ สามารถรักษาวัฒนธรรมและดำรงวิถีชีวิตของตนเองในการอยู่อาศัยและทำมาหากินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาวัฒนธรรมพื้นถิ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และให้พี่น้องชาวมานิ สามารถดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: