สงขลา-สะเดา สลด เด็กชายวัย 9 ขวบ เสียชีวิตหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้เพียง 2 วัน โดยถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ด้วยอาการวิกฤต ไตวาย น้ำท่วมปอด แม่เด็กบอกเสียใจมาก หากตอนแรกหมอใส่ใจสักนิดลูกคงไม่ถึงขั้นเสียชีวิต โร่แจ้งความหาความเป็นธรรม
12 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ว่าเกิดเหตุมีลูกชายของเพื่อนเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ใน อ.สะเดา ด้วยอาการมีไข้สูง หลังจากจ่ายยาก็ให้คนป่วยกลับบ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น ก็กลับไปที่โรงพยาบาลอีก สุดท้ายถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลหาดใหญ่ และเด็กได้เสียชีวิตลง ทางแม่และญาติๆมองว่าทางโรงพยาบาลต้นทาง ขาดความใส่ใจต่อคนป่วยจึงทำให้เกิดเหตุเศร้าขึ้น
น้องเจมส์ วัย 9 ขวบ
โดยผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับ นางสาวเจนจิรา เส็นเจริญ อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18 เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เปิดเผยเหตุการณ์ว่า ลูกชายของตนเองคือ ด.ช.เจมส์ ( ชื่อเล่น ) อายุ 9 ขวบ ช่วงวันที่ 5 มกราคม มีอาการไข้สูง เวลาประมาณ 18.00 น.จึงได้พาลูกไปพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน อ.สะเดา พร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าลูกชายมีความเสี่ยง ที่จะเป็นโรคไข้เลือดออกเนื่องจากมีเพื่อนในชั้นเรียนชั้น ป.3 มีเด็กเป็นโรคนี้อยู่เจ้าหน้าที่ก็ได้ตรวจอาการเบื้องต้น และได้จ่ายยาพาราเซตามอล เกลือแร่ และกลีเซอริลกวัวโคเลท ก่อนให้กลับไปรักาตัวที่บ้าน โดยนัดเจาะเลือดในวันที่ 6 มกราคม 68 ก่อนเวลา 08.30 น.
ต่อมาเวลาประมาณ 12.00 น.หลังจากที่ลูกได้รับการเจาะเลือดแล้ว แพทย์ก็แจ้งว่าผลเลือดปกติ และน้ำในเลือดก็ปกติ โดยขณะนั้นลูกได้มีอาการไข้ขึ้นสูง ก็มีพยาบาลนำตัวลูกไปทำการเช็ดตัวเพื่อลดไข้ หลังจากฟังผลเลือดเสร็จก็ได้รับยา พาราเซตามอล เกลือแร่ และกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งหลังจากกลับมาอาการก็ไม่ดีขึ้น มีอาการไข้สูงและอ่อนเพลีย และมีอาการเพ้อกลืนอาหารไม่ลงในวันที่ 7 มกราคม
วันที่ 8 มกราคม เวลาประมาณ 16.00 น.ลูกมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงพาไปที่คลีนิคแห่งหนึ่งใกล้ๆบ้าน ซึ่งระหว่างนั้นลุกมีอาการชักเกร็ง จึงได้รีบพาลูกไปยังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมาตรวจเบื้องต้น และแจ้งว่าลูกไม่มีไข้ ความดันปกติ ปอดโล่ง อาการที่พบคืออ่อนเพลีย อาจจะได้รับผลกระทบมาจากอาการไข้ก่อนหน้านี้ ตนเองจึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า ก่อนที่จะมาโรงพยาบาลลูกมีอาการชักเกร็ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่า ให้ลูกมีอาการชักเกร็ง หมดสติ ตาเหลือก ถึงจะมาห้องฉุกเฉิน ตนเองจึงบอกว่าขอให้ลูกรับน้ำเกลือที่โรงพยาบาลได้หรือไม่ เนื่องจากลูกมีอาการอ่อนเพลีย
แต่ได้รับคำตอบว่าให้ลูกกลับไปทานน้ำเกลือแร่ที่บ้าน เนื่องจากน้ำเกลือไม่ได้ช่วยให้หายจากอาการไข้ ตนเองจึงได้พาลูกกลับบ้านในเวลาประมาณ 20.00 น.
ต่อมาวันที่ 9 มกราคม ลูกมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เช่นเดิม เวลาประมาณ 17.00 น.จึงพาลูกไปที่คลีนิคแห่งหนึ่งหลังจากทำการตรวจทางคลีนิคได้ทำหนังสือขอส่งตัวลูกไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลเดิม
โดยเจ้าหน้าที่ได้นำลูกเข้าห้องฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์แจ้งว่าลูก น้ำตาลต่ำ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อพยุงชีวิต และทางโรงพยาบาลบอกว่าจะต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เนื่องจากคาดว่าจะติดเชื้อในกระแสเลือด และส่งตัวถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลหาดใหญ่ในเวลาประมาณ 20.30 น.และไปรักษาตัวต่อที่ห้องผู้ป่วยหนัก โดยแพทย์บอกว่าลูกมีอาการตับพัง ไตวาย น้ำท่วมปอด ต้องใช้ยานอกด่วน
ต่อมาวันที่ 10 มกราคม เวลาประมาณ 03.00 น.แพทย์ได้แจ้งว่าลูกมีเลือดออกในช่องท้องต้องใช้ยาด่วน และแพทย์แจ้งว่าลูกตอบสนองกับยาได้ดีแต่ต้องใช้ยาสลบ ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตหนักโดยตนเองรออยู่หน้าห้องผู้ป่วยวิกฤตโดยตลอด
จนกระทั่งวันที่ 11 มกราคม เวลาประมาณ 08.00 น.แพทย์ได้บอกว่าชีพจรของลูกตก กำลังที่จะกู้ชีพ ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น.แพทย์บอกว่าให้ตนเองเข้าไปอยู่กับลูกเนื่องจากอาการไม่ดีขึ้น รูม่านตาไม่รับแสง ต่อมาเวลาประมาณ 13.16 น้องก็เสียชีวิต
“ถ้าเค้าดูแลให้มากกว่านี้อีกนิดลูกคงไม่เสียชีวิต โดยสาเหตุการเสียชีวิตทางโรงพยาบาลหาดใหญ่แจ้งว่าลูกเป็นไข้เลือดออกอย่างรุนแรง แต่ทางโรงพยาบาลในพื้นที่บอกว่าไม่มีเชื้อแต่แจ้งว่าน้องอาจติดเชื้อกระแสเลือดเท่านั้น มันสวนทางกัน”
ที่แจ้งความในวันนี้ก็ขอให้ใส่ใจนิดนึง ดูแลนิดนึง ว่าเหมือนคุณแม่ 5 วันไป 7 ครั้งมันก็ไม่ใช่ เราพยายามรักษาลูกทุกขั้นตอน รู้สึกว่าอาจจะเป็นแค่บุคคลเดียวที่ทำให้โรงพยาบาลดูไม่ดี ไม่ได้เหมารวมทั้งโรงพยาบาล แต่หากใส่ใจสักนิดอาจจะดีกว่านี้ค่ะ หากวันนั้นให้น้ำเกลือน้องหรือดูอาการน้อง คิดว่าน้องคงไม่แย่ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น
ทางด้านน้าชายของเด็ก ( สงวนชื่อและนามสกุล ) บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ทางครอบครัวเราติดใจถึงกระบวนการการรักษา คือเราไม่ได้ปล่อยปละละเลยในอาการไข้ของน้อง มีการสังเกตุอาการและติดตามอาการตลอด อีกอย่างการเข้าไปในสถานพยาบาลทางแม่ของน้องก็ได้แจ้งแล้วว่าน้องสัมผัสเสี่ยงในกลุ่มโรคที่เฝ้าระวัง ของการระบาดในพื้นที่
เพราะฉะนั้นหากเจ้าหน้าที่รับฟังข้อมูลตรงนี้ ซึ่งต้องแจ้งสาธารณสุขอยู่แล้วตามหลักการ แต่ถามว่าทำไมคุณถึงเพิกเฉยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมไม่รับน้องแอดมิทตั้งแต่แรก ทั้งๆที่เราแจ้งแล้วว่าน้องมีอาการเพลีย มีอาการชักเกร็ง แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับยืนยันว่าน้องไม่มีอะไร ซึ่งญาติติดใจอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าผลการตรวจเลือดต้องมีอะไร ที่สามารถวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ แต่นี่เป็นการปล่อยปละละเลย เป็นการปฎิเสธการรักษา
เราต้องการให้สถานพยาบาลปรับปรุงแก้ไข การทำงานและจรรยาบรรณวิชาชีพ ในการที่จะสื่อสารกับผู้ป่วย เพราะพ่อแม่ยามลูกไม่สบายจิตใจก็ไม่ดีอยู่แล้ว อย่างคำพูดที่ว่าหากไม่ชักตาเหลือก ไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผมเชื่อว่าในทุกๆอาชีพต้องมีจรรยาบรรณ ก่อนที่คุณจะมีใบประกอบวิชาชีพ
เพราะฉะนั้นจรรยาบรรณข้อนี้ของคุณอาจตกหล่น ก็ขอให้ผู้ใหญ่ในทางสาธารณสุข ในทางแพทย์สภา หรือ สปสช.หรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องลงมาสอบสวนในเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะเคสของน้องๆได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ยังต้องเข้าไปรักษาตามสิทธิ์ เราไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย น้าชายเด็กบอก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: