การเฝ้าระวังเชิงรุกและการเตือนภัยล่วงหน้าจากการะบาดของโควิด -19 ในเขตเทศบาลนครยะลา ด้วยการตรวจซากเชื้อโควิด SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก ในรางระบายน้ำและบ่อบำบัดน้ำเสีย เขตเทศบาลนครยะลา
มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดย ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ และคณะ ได้ทำการวิจัย การเฝ้าระวังเชิงรุกและการเตือนภัย (3-14 วัน) ล่วงหน้าจากการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ในสถานที่สุ่มเสี่ยงและชุมชน ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกโดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays” เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุกที่แจ้งเตือนล่วงหน้าได้ก่อนการระบาด ซึ่งสามารถที่จะลดความรุนแรงของการระบาด โดยการตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 ในน้ำเสียโดย qRT-PCR หากพบเชื้อก็จะสามารถแจ้งเตือนก่อนการแพร่ระบาดได้ 3-14 วัน ซึ่งวิธีการนี้ได้ดำเนินการแล้วในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย เริ่มดำเนินการในภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ ส่วนในภาคใต้ เทศบาลนครยะลาได้ขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อที่จะให้ดำเนินการตรวจตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครก จากรางระบายน้ำในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อเป็นข้อมูลให้สามารถทำการสืบสวนและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า หากตรวจพบสารพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย และสามารถพัฒนาเป็นแผนระดับองค์กรในการตอบโต้สถานการณ์การระบาดของโควิดในรอบต่อไป ซึ่งการนำวิธีการนี้มาใช้จะทำให้มีผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกอื่น ๆ ในอนาคตลดน้อยลง ลดความเสียหายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมได้
ประโยชน์จากการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครก
1. เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการติดเชื้อ COVID-19 และสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในระดับจังหวัดอำเภอ ตำบล เทศบาล ชุมชน กลุ่มอาคาร(คอนโด) อาคารโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ร้านอาหาร สถานที่ราชการ
2. คาดการณ์ (คำนวณอย่างคร่าวๆ) จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงและไม่แสดงอาการในระดับชุมชนหรือกลุ่มอาคาร
3. ประเมินความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเข้มงวด เช่น มาตรการล็อกดาวน์—ประเมินความสำเร็จของการดำเนินมาตรการ เช่น มาตรการล็อกดาวน์
4. ประเมินการติดเชื้อในชุมชนที่เพิ่มขึ้นหลังคลายล็อก
5. เฝ้าระวังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ต่างๆในชุมชนโดยเฉพาะสายพันธุ์อันตรายใหม่ ๆ
6. ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดการติดเชื้อในชุมชน
เทศบาลนครยะลาเชื่อว่า นวัตกรรมใหม่ ในการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด จะช่วยให้เราได้คาดการณ์ล่วงหน้าและสามารถหาแนวทางในการแก้ปัญหา อย่างมีหลักการ ขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ให้การสนับสนุนในครั้งนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: